การสกัดน้ำมันสัตว์:การเจียว(Rendering)
การเจียว(Rendering)
การทอดหรือเจียว (Rendering) นั้นเป็นวิธีการที่ใช้กันมากที่สุดในการสกัดไขมันและน้ำมันจากสัตว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อแยกส่วนประกอบออกจากชั้นเนื้อเยื่อไขมันอย่างสมบูรณ์ด้วยการให้ความร้อนโดยตรง โดยอาศัยความร้อนในการใช้สลายไขมันออกจากเซลล์ของเนื้อเยื่อไขมันเพื่อให้เนื้อเยื่อไขมันแตกและปล่อยน้ำมันออกมา วิธีการนี้อาจทำให้ได้น้ำมันที่มีกลิ่นค่อนข้างแรง อีกทั้งสีของน้ำมันที่ได้ขึ้นกับระดับอุณหภูมิที่ใช้ การเจียว (Rendering) สามารถกระทำได้ใน 2 แบบ คือ การเจียวแบบเปียก (Wet rendering) และการเจียวแบบแห้ง (Dry rendering)การเจียวแบบแห้ง(Dry rendering)
เป็นวิธีการปลดปล่อยไขมันด้วยการขจัดน้ำออกจากวัตถุดิบ โดยขั้นแรกวัตถุดิบนั้นจะถูกบด หั่น จากนั้นจึงให้ความร้อนเพื่อให้ไขมันออกมาและเป็นการไล่ความชื้นออกไป กรองเพื่อระบายส่วนไขมันออกแยกส่วนของโปรตีน และกากชิ้นส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ออกไป หากเนื้อเยื่อไขมันถูกนำไปผ่านกระบวนการอย่างถูกวิธีและเหมาะสมจะส่งผลให้ได้ไขมันสัตว์ที่สามารถใช้บริโภคได้โดยไม่ต้องใช้วิธีการเพิ่มเติม ไขมันสัตว์ที่สามารถกินได้นั้นอาจต้องมีการฟอกสี (Bleaching), การเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation), การดับกลิ่น (Deodorization) และการอินเทอร์เอสเทอริฟิเคชัน (Intersterification) หรืออย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงคุณลักษณะ
การเจียวแบบเปียก(Wet rendering)
เป็นวิธีการให้ความร้อนโดยใช้น้ำ ด้วยการใช้น้ำต้มเดือดหรือไอน้ำกับวัตถุ โดยนำเนื้อเยื่อที่มีไขมันสัตว์มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก บาง และนำไปต้มในน้ำ เพื่อทำให้ไขมันแยกชั้นขึ้นมาบนชั้นผิว โดยมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและฟอสโฟลิปิด(ส่วนประกอบหลักของเยื่อหุ้มเซลล์) หลงเหลือปะปนอยู่ในส่วนของเหลว ซึ่งจะต้องนำไปแยกออกจากส่วนที่เป็นน้ำมันอีกครั้ง โดยวิธีการดังกล่าวอาจมีการเติมสารเคมีใช้เป็นตัวทำละลาย(Extraction solvent)เพื่อช่วยในการสกัดน้ำมันร่วมด้วย อาทิเช่น alkaline ethanol,n-hexane,petroleum ether เป็นต้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น